อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ประวัติความเป็นมา
ภูกระดึงเกิดจาก "ภู" + "กระดึง" ภู มาจาก ภูเขา และกระดึง มาจากคำว่า กระดิ่ง ในภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย ด้วยเหตุนี้ ภูกระดึง จึงอาจแปลได้ว่า ระฆังใหญ่
ชื่อกระดึงนี้มาจากเรื่องเล่าที่ว่าในวันพระ ชาวบ้านมักได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากภูเขาลูกนี้เสมอ จึงเล่าต่อกันไปว่าเป็นระฆังของพระอินทร์ นอกจากนี้เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาบางส่วนหากเดินหนักๆ หรือใช้ไม้กระทุ้งก็จะมีเสียงก้องคล้ายระฆัง ซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้ จึงได้รับการตั้งชื่อว่า "ภูกระดึง"
ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตร.กม. (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยที่ราบบนยอดตัดของภูกระดึงมีพื้นที่ประมาณ 60 ตร.กม. (37,500 ไร่) มีลักษณะคล้ายรูใบบอนหรือรูปหัวใจเมื่อมองจากด้านบน มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล และมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นตลอดปี
ภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของภูกระดึงเกิดขึ้นในมหายุค Mesozoic เป็นหินในชุดโคราช ประกอบด้วยชั้นหินหมวดหินภูพาน หมวดหินเสาขัว หมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง
พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขาอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 400-1,200 เมตร มีพื้นที่ราบบนยอดเขากว้างใหญ่คล้ายรูใบบอน ประกอบด้วยเนินเตี้ยๆ ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร
สภาพพื้นที่ราบบนยอดภูกระดึงมีส่วนสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำธารสายต่างๆ ที่เกิดจากแหล่งน้ำบนภูเขาไหลไปรวมกันทางด้านนี้ เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งหล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวาย ในจังหวัดขอนแก่น
ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงบริเวณที่ระดับต่ำตามเชิงเขา มีสภาพโดยทั่วไปใกล้เคียงกับบริเวณอื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน
สภาพอากาศทั่วไปบนยอดภูกระดึง แตกต่างจากสภาพอากาศในที่ราบต่ำเป็นอย่างมาก โดยปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำฝนบนที่ต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของเมฆ/หมอกที่ปกคลุมยอดภูกระดึงเป็นเนืองนิจ ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 0-10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 23-30 องศาเซลเซียส อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอก ลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดปี ในช่วงฤดูฝน มักเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เกิดการพังทะลายของภูเขาและมีน้ำป่า ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดให้ปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว หลังจากนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมากในแต่ละปี
พืชพรรณ
- ป่าเต็งรัง พบบนที่ราบเชิงเขาและบนที่ลาดชันจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 600 เมตร
- ป่าเบญจพรรณ พบตั้งแต่บนพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภูกระดึง จนถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 950 เมตร
- ป่าดิบแล้ง พบตามฝั่งลำธารของหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตก ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูงประมาณ 950 เมตร จากระดับน้ำทะเล
- ป่าดิบเขา พบตั้งแต่ระดับ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
- ป่าสนเขา พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล
พรรณไม้ที่มีชื่อเสียง ได้แก่
- ก่วมแดง พืชสกุลเมเปิลที่พบบริเวณน้ำตก บนภูกระดึงต้นจะแดงสดในฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม
- หม้อข้าวหม้อแกงลิง พบได้เป็นดงในบริเวณใกล้ผานาน้อยจนถึงผาแดง
- ดอกกระเจียว ทุ่งดอกกระเจียวพบได้ในบริเวณใกล้ผาเหยียบเมฆจนถึงผาแดง โดยปกติดอกกระเจียวจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายน แต่ในเดือนพฤษภาคมก็จะยังพบดอกกระเจียวบานอยู่ แม้ว่าอาจจะถูกแมลงและสัตว์ต่างๆ กัดกินดอกและใบของมันไปบ้างก็ตา
สัตว์ท้องถิ่น
ภูกระดึง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าภูกระดึงมีหลายชนิดที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอกหลากสี กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน อีเห็น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย นกขมิ้นดง ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเก่า งูเขียวหางไหม้ อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ ปาดแคระ และมีเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว
เส้นทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึง
1. เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมความงามบนยอดภูกระดึง ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 7.00 - 14.00 น. ของทุกวัน และหลังจากเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ทางอุทยานแห่งชาติจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไป เนื่องจากจะตรงกับเวลาพลบค่ำในระหว่างทางเกิดความยากลำบากในการเดินทาง อีกทั้งอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืน- เส้นทางจากที่ทำการอุทยานถึงหลังแป (5.5 กม.)การเดินขึ้นภูกระดึงไม่ลำบากมากนัก แต่ระยะทางจะไกลและชัน เส้นทางจากที่ทำการอุทยานถึงหลังแป มีระยะทางประมาณ 5.5 กม.หากเดินขึ้นภูตั้งแต่เช้า อากาศจะค่อนข้างเย็นสบาย มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมไปตลอดทาง โดยเฉพาะสภาพทางธรณีและสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ จากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา จนถึงหลังแปจากที่ทำการอุทยานถึงหลังแป จะแบ่งเป็นหลายช่วง แต่ละช่วงเรียกว่า ซำ ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีน้ำขัง มักเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่ามาพักกินน้ำ นักท่องเที่ยวต้องเดินทางผ่าน ปางกกค่า ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก พร่านพรานแป ซำกกหว้า ซำกกโดน และซำแคร่ ตามลำดับ ระหว่างทางจะมีจุดให้แวะพักเหนื่อยต่างๆ ซึ่งจะมีร้านค้าบริการอาหาร เครื่องดื่ม และห้องน้ำโดยหลังจากซำแคร่ซึ่งเป็นซำสุดท้าย นักท่องเที่ยวต้องเดินขึ้นไปอีกประมาณ 1 กม. เพื่อเข้าสู่ยอดเขาในส่วนที่เรียกกันว่าหลังแป ระยะทางและความสูงจากระดับน้ำทะลแต่ละช่วงตามรูป
- เส้นทางจากหลังแปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง (3.6 กม.)หลังจากขึ้นถึงหลังแป จะเป็นทางราบท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าสนเขาอันกว้างใหญ่ นักท่องเที่ยวต้องเดินทางราบอีกประมาณ 3.6 กม. เพื่อไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางบนยอดเขา เพื่อตั้งเต็นท์ หรือที่พักอาศัยอื่นๆ ณ จุดยอดเขานี้นักท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นป่าสนมากมายเรียงรายกันตลอดทางผังลานกางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง
2.เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่บ้านฟองใต้ อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 5.2 กม. จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงผาหล่มสัก
เส้นทางท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึง
แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือบริเวณท่องเที่ยวปกติ และบริเวณป่าปิด
- บริเวณแหล่งท่องเที่ยวปกติ แบ่งเป็นเส้นทางน้ำตก และเส้นทางเลียบผา
1.1 เส้นทางน้ำตก การเดินทางจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ สระแก้ว น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาด น้ำตกธารสวรรค์ และพระพุทธเมตตา1.2 เส้นทางเลียบผา การเดินทางจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ พระแก้ว ผานกแอ่น ผาหมากดูก ผาจำศีล ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง และผาหล่มสัก จุดดูพระอาทิตย์ขึ้นสามารถดูได้ที่ผานกแอ่นเพียงที่เดียวมีระยะทางห่างที่พักเพียง 2 กม. สำหรับจุดดูพระอาทิตย์ตกสามารถชมได้ที่ผาหมากดูก ซึ่งใกล้ที่สุดห่างจากที่พักเพียง 2 กม. และผาหล่มสักซึ่งเป็นจุดที่นิยมมากที่สุด
- ส่วนบริเวณป่าปิด แบ่งได้เป็นเส้นทางน้ำตกขุนพอง และเส้นทางผาส่องโลก
2.1 เส้นทางน้ำตกขุนพอง จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกขุนพอง2.2 เส้นทางผาส่องโลก จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ น้ำตกผาฟ้าผ่า โหล่มฟ้าโลมดิน ผาส่องโลก โหล่นเจดีย์ โหล่นถ้ำพระ และ แง่งทิดหา
จุดเด่นหรือสิ่งที่น่าสนใจ
แหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึงส่วนใหญ่มีทางเดินชมธรรมชาติติดต่อถึงกันหมด การท่องเที่ยวบนภูกระดึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน เพื่อจะได้เที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงาม เหล่านั้นได้ทั่วถึง จุดที่น่าสนใจ ได้แก่
ผานกแอ่น
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางประมาณ 2 กม. ผานกแอ่นเป็นลานหินเล็กๆ มีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามยิ่ง อากาศสดชื่น เย็นสบาย มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา เห็นผานกเค้าได้ชัดเจน ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานสะพรั่ง เต็มต้นในเดือนมีนาคม-เมษายน ผู้ที่ไปชมประอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ควรเตรียมไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางไปด้วย
ผาหมากดูก
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.3 กม. เป็นผาที่มีลานหินกว้างขวาง เป็นผาสำหรับชมพระอาทิตย์ตก ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์สามารถชมทิวทัศน์ภูผา จิตในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีดอกกระเจียวขึ้นเต็มทุ่งตามเส้นทางสู่ผาหมากดูก
ผาหล่มสัก
อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 9 กม. เป็นลานหินกว้างและมีสนต้นหนึ่งขึ้นชิดริมผาใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศทางทิศใต้ บริเวณผาหล่มสักนี้มองเห็นทิวทัศน์ของ เทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นจุดหนึ่งที่จะชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจนและงดงามมาก ผู้ที่ไปชมประอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ควรเตรียมเสื้อกัน หนาวและไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางเวลาเดินกลับที่พัก ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง
ลานวัดพระแก้ว
หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นแล้ว สามารถเดินไปลานวัดพระแก้วซึ่งอยู่ห่างไปเพียง 500 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2463 บริเวณลาน หินที่กว้างขวางมีพรรณไม้ดอกพวกดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง ขึ้นอยู่ทั่วไป ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพากันออกดอกอยู่เกลื่อนลาน
ลานหินบริเวณองค์พระพุทธเมตตา
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 500 เมตร ลานหินบริเวณองค์พระนี้เป็นจุดชมพันธุ์ไม้บนลานหิน เช่น ดุสิตา กระดุมเงิน เอื้องม้าวิ่ง ที่อยู่ใกล้ที่สุด
สระแก้ว
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 1 กม. อยู่ในส่วนต้นน้ำของลำธารสวรรค์ "ธารสวรรค์" ลักษณะเป็นวังน้ำลึกขนาดไม่กว้างนัก น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นหิน ขาวสะอาด เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่าจำนวนมาก ต่อจากบริเวณสระแก้วมีทางเดินชมธรรมชาติผ่านลานหิน ซึ่งมีดอกหรีดสีม่วงอมน้ำเงินเกสรสีเหลือง ขึ้นอยู่เป็นทุ่งไปจนถึงผา นาน้อย แยกซ้ายไปจะพบกับผาจำศีล ซึ่งมีลานหินกว้างพอให้นั่งพักผ่อน จากผาจำศีลประมาณ 600 เมตร จะถึงผาหมากดูก หากแยกขวาจะผ่านผาเหยียบเมฆและผาแดง แล้ว ก็จะถึงผาหล่มสัก
สระอโนดาด
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.7 กม. เป็นสระน้ำขนาดไม่ใหญ่นักที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ใกล้กันยังมีลานกินรีซึ่งเป็นสวนหินธรรมชาติที่อุดมไปด้วยพรรณไม้ ทั้งพวกกินแมลงอย่างดุสิตา หยาดน้ำค้าง หรือเฟิน เช่น กระปรอกสิงห์ บนหินยังมีไลเคนขึ้นอยู่เต็มไปหมด
น้ำตกวังกวาง
เป็นน้ำตกอยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดในบรรดาน้ำตกบนภูกระดึง ระยะทางเพียง 750 เมตร จากจุดเริ่มต้นตรงบริเวณบ้านพัก ลักษณะน้ำตกเป็นผาหินสูง 7 เมตร ตัดขวางลำธาร ธารน้ำไหลลงยังวังน้ำเบื้องล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโพลงถ้ำมุดลงไปและบริเวณป่าใกล้ๆ ก็เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวางมักจะลงมากินน้ำอยู่เสมอๆ จึงเรียกว่า "วังกวาง" บริเวณ น้ำตกมีที่กว้างขวางให้ได้นั่งพักสบายๆ หลายมุม เพราะน้ำตกอยู่ไม่ไกล สามารถลงเล่นน้ำได้
น้ำตกเพ็ญพบใหม่
เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาว ใบเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณริมน้ำตกจะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำยามแดดสาดส่องผ่านลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียว ขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกโผนพบ ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของ ชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ
น้ำตกโผนพบ
เป็นหนึ่งในน้ำตกหลายจุดอันเกิดจากสายน้ำวังกวาง ห่างจากตัวน้ำตกเพ็ญพบใหม่เพียง 600 เมตรเท่านั้น ในส่วนของลำธารส่วนบนของน้ำตกโผนพบนี้ สามารถไปยืนชมตัว น้ำตกกลางลำธารซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม น้ำตกมี 8 ชั้น สูงประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามไม่น้อยบนภูเขานี้ สำหรับชื่อ "โผนพบ" ตั้งชื่อเป็น เกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยน โลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่าง ประเทศ
น้ำตกเพ็ญพบ
อยู่ห่างจากน้ำตกโผนพบ 800 เมตร เป็นน้ำตกที่ไม่สูงนัก ลำห้วยช่วงก่อนไหลลงน้ำตกเป็นลานหินกว้าง ลักษณะคล้ายแก่งที่เต็มไปด้วยหลุมกลม
น้ำตกถ้ำใหญ่
ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบประมาณ 1 กม. เส้นทางเดินไปสู่น้ำตกจะดูใกล้นิดเดียวสำหรับคนชอบธรรมชาติ ชมนกชมไม้ เพราะตลอดเส้นทางครอบคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณ ไม้ใหญ่และร่มครึ้มกว่าทุกเส้นทางน้ำตกอื่นๆ อาจได้พบต้นส้มกุ้ง (Begonia sp.) ออกดอกเป็นสีชมพู เกสรกลางสีเหลือง ชอบขึ้นตามทางในพื้นที่สูงอย่างป่าดงดิบเขา ในเส้น ทางถ้ำใหญ่นี้มีทางเดินบางช่วงที่เลียบข้างลำห้วยเล็กๆ มีต้นเมเปิ้ลอยู่เป็นระยะๆ หากช่วงต้นมกราคม เส้นทางนี้จะแดงฉานด้วยใบเมเปิ้ลที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นป่า ความสวย งามของน้ำตกถ้ำใหญ่จะแปลกตาด้วยโขดหินมหึมาวางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ ลำธารนี้ขนาบข้างด้วยต้นเมเปิ้ล ยามเมเปิ้ลแดงล่วงหล่น ขัดสีให้ลำธารหินเขียวสวยงามมีสีสัน และมีชีวิตชีวาขึ้นมามากนัก
น้ำตกถ้ำสอเหนือ
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 4.8 กม. เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร น้ำไหลมาจากผาเป็นม่านน้ำตก บริเวณเหนือน้ำตกมีดงกุหลาบแดงซึ่งในช่วงฤดูร้อน จะผลิดอกสร้างสีสรรค์ให้กับบริเวณนี้สวยงามยิ่งขึ้น
น้ำตกถ้ำสอใต้
อยู่ถัดจากน้ำตกถ้ำสอเหนือลงไปตามลำน้ำประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากหน้าผาหินถล่มลงไป สภาพภูมิประเทศไม่ได้อำนวยให้เกิดเป็นชั้นน้ำตกเหมือน แห่งอื่นๆ
น้ำตกตาดฮ้อง
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 3 ชั้น เกิดจากลำน้ำพอง ซึ่งไหลลงมาจากภูกระดึงด้านหุบเขาตะวันตกเฉียงเหนือ สองฝั่งของตาดฮ้องเป็นผาหินสูงชันมาก เมื่อน้ำตกผ่านผาหินกว้างที่ลด หลั่นเป็นชั้นๆ จึงทำให้เกิดเสียงดังกึกก้อง จากบริเวณน้ำตกมองเห็นแนวภูเขาเปลือยขวางอยู่ข้างหน้าน้ำตกตาดร้องอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 20 กม.
วังอีเมือง
อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฮ้องลงมาประมาณ 3.2 กม. บริเวณนี้มีแก่งที่สวยงามหลายแห่ง เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนและลงเล่นน้ำ
แก่งป่าหินทราย
อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฮ้องลงมาประมาณ 5.6 กม. เป็นแก่งหินที่สวยงาม มีความยาวประมาณ 750 เมตร ด้านบนมีจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของแก่งได้ อย่างสวยงาม บริเวณแก่งหินจะมีหลุมเป็นอ่างหินที่เกิดจากการกัดกร่อนของแรงน้ำมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง